วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ยานจันทรายาน 2 เคลื่อนที่เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์

23/ส.ค/2562
ยานจันทรายาน 2 เคลื่อนที่เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ หลังจากยานถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ มีกำหนดลงจอด 7 ก.ย.นี้ หากภารกิจสำเร็จอินเดียจะเป็นประเทศที่ 4 นำยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์

  วันนี้ (23 ส.ค.2562) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยว่า ยานอวกาศจันทรายาน 2 (Chandrayaan 2) จากประเทศอินเดีย เคลื่อนที่เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากยานถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา และมีกำหนดลงจอดในวันที่ 7 ก.ย.62 นี้ หากสำเร็จ อินเดียจะเป็นประเทศลำดับ 4 ต่อจาก รัสเซีย อเมริกา และจีน ที่สามารถนำยานอวกาศลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ
องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) เปิดเผยว่า ขั้นตอนการส่งยานอวกาศเข้าสู่วงโคจรวงจันทร์เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ยากและท้าทายมาก เนื่องจากหากยานอวกาศเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่มากเกินไป แรงโน้มถ่วงดวงจันทร์จะไม่สามารถดึงยานอวกาศให้อยู่ในวงโคจรได้ และอาจทำให้ยานอวกาศเคลื่อนที่เลยจากเป้าหมายออกไปไกลในอวกาศ หรือถ้ายานอวกาศมีความเร็วน้อยเกินไป ก็จะไม่สามารถรักษาระดับความสูงขณะโคจรรอบดวงจันทร์ได้ และถูกแรงโน้มถ่วงดึงลงมาจนกระแทกกับพื้นผิวของดวงจันทร์ในที่สุด
ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงให้ความสำคัญกับระดับความเร็วของยานอวกาศขณะเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ รวมทั้งทิศทางการเอียงและความสูงจากผิวดวงจันทร์ที่เหมาะสมอย่างละเอียด ถูกต้อง และแม่นยำทุกขั้นตอน เพื่อให้ภารกิจดังกล่าวประสบผลสำเร็จตามแผนที่วางไว้
ความสำเร็จในแต่ละขั้นตอนของจันทรายาน 2 เกิดขึ้นจากประสบการณ์และความสำเร็จในการส่งยานอวกาศจันทรายาน 1 เพื่อโคจรรอบดวงจันทร์ เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา สำหรับขั้นตอนถัดไป ไม่ว่าจะเป็นการลงจอดหรือสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ จะเป็นก้าวกระโดดครั้งใหม่ที่สำคัญอย่างมากสำหรับโครงการสำรวจอวกาศของประเทศอินเดีย ซึ่งจะนำไปสู่แผนการส่งมนุษย์ไปสำรวจดวงจันทร์ในอนาคต

ข้อมูล/ภาพ : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page 

ขับเคลื่อนแผนพัฒนาการแพทย์แม่นยำช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วย

15/ส.ค./2562
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมมือภาคีเครือข่ายจัดประชุม Genomics Thailand สัญจรภาคอีสาน ขับเคลื่อนแผนพัฒนาการแพทย์แม่นยำช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับภาคีเครือข่ายวิจัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหารือแนวทางวิจัยและประยุกต์ใช้การแพทย์จีโนมิกส์ ขับเคลื่อนแผนพัฒนาการแพทย์แม่นยำ  เพื่อคนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีความแม่นยำและจำเพาะต่อบุคคลมากขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาหายและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การแพทย์แม่นยำ ซึ่งใช้ฐานเทคโนโลยี ของจีโนมมนุษย์เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาประเทศตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 โครงการ Genomics Thailand ได้ถูกตั้งขึ้น ในปี พ.ศ.2561 เป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แพทยสภาแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาค

วิชาการจากสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งการริเริ่มดังกล่าวมุ่งประโยชน์ที่จะนำเทคโนโลยีจีโนมมนุษย์ (human genome technology) มาใช้ในการจัดการปัญหาทางสุขภาพและความอยู่ดีกินดีของประชากรไทย โดยแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ.2563-2567 ได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2562 และได้รับอนุมัติงบประมาณการดำเนินงานวงเงินกว่า 4,570 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการแพทย์จีโนมิกส์ของอาเซียนภายใน 5 ปี

ในแผนปฏิบัติการบูรณการจีโนมิกส์ ประเทศไทย ประกอบด้วย มาตรการในการนำเทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์ก้าวหน้ามาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรค วินิจฉัยโรค และดูแลผู้ป่วย อันจะนำมาสู่การลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมาก รวมทั้งยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการส่ งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและการให้บริการใน medical hub ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย ในการพัฒนาเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ที่เรียกว่าจีโนมิกส์ โดยจะทำการสุ่มตรวจรหัสพันธุกรรมคนไทย จำนวน 50,000 คน มุ่งเน้นศึกษาพันธุกรรมเสี่ยงใน

ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคที่หายาก ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ผู้ป่วยที่แพ้ยากันชัก และเภสัชพันธุศาสตร์พร้อมจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมอ้างอิงของชาวไทยและพัฒนาระบบการบริหารจัดการและแปลผลข้อมูลพันธุกรรม นับเป็นการสนับสนุนให้เกิดการ วินิจฉัย ป้องกัน และรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำตามแนวทาง การแพทย์แม่นยำ ยกระดับการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันในธุรกิจด้านบริการการแพทย์และนวัตกรรมสุขภาพ

"กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความสำคัญกับโครงการนี้ และมีนโยบายให้มีการจัดประชุมสัญจรในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา, ภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ สำหรับการประชุม Genomics Thailand สัญจรภาคอีสาน ที่จังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคีเครือข่ายวิจัยของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์ในสถาบันการศึกษา นักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุข และผู้สนใจ ประมาณ 100 คน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของการดำเนินโครงการ ตลอดจนการสนับสนุนแนวคิดเชิงการแพทย์แม่นยำให้กับประชาคมในเครือข่ายวิจัยและเป็นการสร้างเครือข่ายวิจัยด้านจีโนมมนุษย์ โดยการทำงานเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยในทีมจีโนมิกส์ไทยแลนด์กับเครือข่ายวิจัยของมหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นการรับฟังประชาพิจารณ์และแลกเปลี่ยนโจทย์วิจัยในประเด็นเป้าหมายของโครงการ เพื่อให้การดำเนินการโครงการ Genomics Thailand เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

อ้างอิง : https://www.ryt9.com/s/tpd/3028118

กรมวิทย์ฯ เตือนประชาชนระวังใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

9/ส.ค./2562
กรมวิทย์ฯ เตือนประชาชนระวังใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

หลังตรวจพบยาลดความอ้วน "ลอร์คาเซริน" ปนปลอมเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เตือนระวังอันตรายยา "ลอร์คาเซริน" (Lorcaserin) พบมีแนวโน้มนำมาใช้ในทางที่ผิดเป็นยาควบคุมน้ำหนักซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย ยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทมีผลทำให้ลดความอยากอาหารได้ แต่มีผลข้างเคียงได้แก่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ มีผลต่อจิตและประสาท และหัวใจ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีภาวะบกพร่องของตับและไต ในต่างประเทศจัดเป็นยาควบคุมและการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักยาและวัตถุเสพติด ได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ลักษณะแคปซูลสีขาวในแผงอลูมิเนียมพลาสติก จำนวน 180 แคปซูลและตัวอย่างจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ลักษณะผงสีน้ำตาล สีขาว และสีดำ บรรจุขวด จำนวนมาก น้ำหนักรวม 70 กิโลกรัม ส่งมาตรวจพิสูจน์เพื่อหาไซบูทรามีน ยา และวัตถุออกฤทธิ์ จากการตรวจพิสูจน์ ในห้องปฏิบัติการ ไม่พบไซบูทรามีน แต่ตรวจพบ ลอร์คาเซริน ซึ่งเป็นยาควบคุมน้ำหนักที่ยังไม่มีจำหน่ายและไม่เคยพบ มาก่อนในประเทศไทย ออกฤทธิ์ควบคุมความอยากอาหารผ่านระบบประสาทส่วนกลาง แต่มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะมีผลต่อหัวใจ และภาวะทางจิตและประสาท เนื่องจาก ลอร์คาเซริน มีข้อบ่งใช้ที่ต้องระวังสำหรับผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกินหรือมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ดังนั้นการใช้ลอร์คาเซริน จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น ไม่ใช้ร่วมกับยาควบคุมน้ำหนักชนิดอื่นๆ และเมื่อใช้แล้วพบอาการข้างเคียง ต้องหยุดใช้ยาและรีบมาพบแพทย์ทันที เนื่องจากยานี้เมื่อรับประทานจะถูกดูดซึมได้ดีผ่านตับและขับออกทางปัสสาวะ จึงต้องระมัดระวังการใช้ในผู้ที่ภาวะบกพร่องทางตับและไต ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีผลต่อทารกในครรภ์ การปนปลอมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก เมื่อรับประทานในขนาดยาที่สูง จนเกิดผลข้างเคียงต่อจิตและประสาท หรือในหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีภาวะหลอดเลือดและหัวใจ หรือผู้ที่มีภาวะบกพร่องของตับและไต

ลอร์คาเซริน ยังไม่มีการควบคุมในประเทศไทย ในสหรัฐอเมริกาจัดเป็นสารควบคุมในกลุ่ม Schedule IV drugs คือ สามารถใช้ในทางการแพทย์ แต่มีแนวโน้มการนำมาใช้ในทางที่ผิดเช่นเดียวกับเฟนเตอมีน รวมทั้งยาควบคุมน้ำหนักอื่นๆ เช่น อีเฟดรีน แอมฟีพราโมน นอร์ซูโดอีเฟดรีน และมาซินดอล เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 เนื่องจากมีการใช้ในทางการแพทย์ แต่  มีแนวโน้มการนำมาใช้ในทางที่ผิดสูง

"ลอร์คาเซริน ที่พบการปนปลอมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในประเทศไทย คาดว่านำมาใช้ทดแทนไซบูทรามีน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย ซึ่งไซบูทรามีน จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 1 ดังนั้นจึงมีแนวโน้ม

การนำลอร์คาเซรินมาใช้ในทางที่ผิดสูง ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้นำเสนอข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อใช้ในการพิจารณาควบคุมทางกฎหมาย เฝ้าระวังการแพร่ระบาดต่อไป" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว

อ้างอิง: https://www.ryt9.com/s/tpd/3012597